พระคาถาบูชา พระวิษณุกรรม (พระวิศวกรรม)


พระวิษณุกรรม หรือ พระวิศวกรรม (บางตำนานเรียกว่า พระวิสสุกรรม, พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชรฉลูกรรม) ท่าน คือ เทพเทวดานายช่างใหญ่ของ พระอินทร์ โดยตามตำนานได้กล่าวเอาไว้ว่า ท่านคือผู้สร้างเครื่องมือ สิ่งของต่างๆ มากมาย ให้เกิดขึ้น และเป็นผู้ที่นำวิชาช่างมาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและใช้งานสิ่งของต่างๆ จนมีการพัฒนารูปแบบมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้ ช่างไทยแขนงต่างๆ ให้ความเคารพบูชาพระวิศวกรรมในฐานะครูช่าง หรือเทพแห่งวิศวกรรมของไทย โดยเรามักพบเห็นรูปจำลององค์ท่านได้บ่อย ๆ ตามสถานศึกษาทางช่างทุกสถาบัน โดยนิยมสร้างอยู่สองท่า คือ ท่าประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือ ผึ่ง (จอบสำหรับขุดไม้) และอีกข้างถือ ดิ่ง และท่าประทับยืนมือขวาถือไม้เมตรหรือไม้วา มือซ้ายถือลูกดิ่งและไม้ฉาก

ปัจจุบันมักจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ พระวิษณุกรรม และ พระวิษณุ ของศาสนาฮินดู เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักจะนิยมเรียก พระวิศวกรรม ว่า พระวิษณุกรรม และในที่สุดก็ได้กร่อนลงเหลือเพียง “พระวิษณุ” ซึ่งเป็นชื่อของเทพที่คนไทยรู้จักกันในฐานะหนึ่งใน 3 แห่งองค์เทพที่สำคัญของศาสนาฮินดู อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และ พระศิวะ ทำให้หลายคนเข้าใจว่าพระวิษณุ คือ เทพแห่งวิศวกรรม ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ในพระไตรปิฎก (อรรถกถา) กล่าวว่า พระวิษณุกรรม ท่านเป็นผู้สร้างอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ (ก่อนที่จะอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า) เช่นในพระเวสสันดรชาดก ท่านเป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้ว ทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสนคร ซึ่งเป็นเส้นทางที่พระพุทธเจ้าใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ในช่วงเข้าพรรษา)

นอกจากท่านจะเป็นสถาปนิกและเป็นวิศวกรด้านโยธาและสำรวจ ดังจะเห็นได้จากผลงาน 2 ประการที่ว่านี้แล้ว พระวิศวกรรม หรือ พระวิษณุกรรม ท่านยังเป็นวิศวกรเครื่องกลอีกด้วย กล่าวคือ ท่านเป็นผู้สร้างวาฬสังฆาตยนต์ ซึ่งเป็นกงล้อหมุนรอบองค์พระสถูป ปกปักรักษาป้องกันมิให้บุคคลเข้าใกล้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุหลังพุทธปรินิพพาน และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในองค์พระสถูปที่ว่านี้

ตามความเชื่อของคนไทยนั้น ให้ความเคารพและศรัทธาองค์พระวิศวกรรม หรือ พระวิษณุกรรม เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากความเชื่อและศรัทธาที่แฝงไว้ในชื่อของเมืองหลวงที่ว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ซึ่งแปลความหมายได้ว่า พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งพระนครแห่งนี้ ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์ หรือ ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช) พระราชทานให้ พระวิษณุกรรม ลงมาเนรมิตไว้ โดยสรุปคือ กรุงเทพมหานครฯ คือเมืองที่ พระวิษณุกรรม สร้างตามพระบัญชาของ พระอินทร์ นั่นเอง

พระคาถาบูชา พระวิษณุกรรม หรือ พระวิศวกรรม นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายบทสวดหลายตำรา หากแต่ความสำคัญอยู่ที่การน้อมจิตภาวนา จะต้องประกอบด้วยความศรัทธาจากใจจริง (ก่อนภาวนา ให้ตั้งมะโม 3 จบ แล้วจึงกล่าว)

โอม นะโม วิษณุกรรม นะมะ ภะวันตุเม 

ทุติยัมปิ นะโม วิษณุกรรม นะมะ ภะวันตุเม 

ตะติยัมปิ พระลักษมี อิตถีเทวะ เมตะตัญจะ มหาลาโภ

หรือ

โอม ปะระ เมสสะนะ มัสสะการัม 

ภูปัสสะวะ วิษณุกรรม ประสิทธิ

นะมัตเต นะมัตเต นะมัตเต 

หรือ

อะหังวะโต พระวิษณุเถโร อะโตวะหัง นิติวะตัง ลาภังวะโส

*************************